บันทึกนายแว่นธรรมดา … "จากงานประจำสู่นักลงทุนเต็มตัว”

สำหรับการเป็นนักลงทุนมาหลายปี… ช่วงที่ตลาดกำลังอยู่ในโหมด “ขาขึ้น” ก็มีหลายคนที่ผมรู้จักอยากจะเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นที่กำลังเป็นช่วงขาขึ้น บางคนถึงขนาดจะลาออกจากงานประจำมาลงทุนเต็มตัว … ผมเองก็เข้าใจความตั้งใจจริงของคนที่อยากจะเป็นนักลงทุนมืออาชีนะครับ แต่เราควรประเมินกำลังของเราก่อนที่จะเข้าสู่สนามเต็มตัว เพราะหากเรายังไม่สามารถผลิตกระแสเงินสดได้จากการลงทุนแบบงานประจำที่ได้คงที่ทุกเดือน หรือไม่มีวิธีที่ดีกว่า ผมเข้าใจว่าการทำงานประจำก็เป็นการผลิตกระแสเงินสดอย่างหนึ่งที่ไม่เลวครับ แถมกระแสเงินสดที่ได้จากงานประจำก็นำมาลงทุนในตลาดได้อีกด้วยครับ ลองพิจารณาให้รอบคอบ เพราะสนามการลงทุนมีผู้แสวงหามากมาย เราต้องมีดีพอสมควรจึงจะประสบความสำเร็จในระยะยาวได้ครับ

อย่างไรก็ตามสำหรับการเปลี่ยนถ่ายจากงานประจำสู่นักลงทุนเต็มตัวนั้นก่อนจะลาออกควรวางแผนให้รอบคอบนะครับ เราควรจัดการกับเงิน 4 กองให้เสร็จสิ้นเสียก่อน

1. เงินกู้ เงินผ่อนสารพัดผ่อน ค่ารถ ค่าบ้าน ค่าผ่อนจิปาถะ ถ้าเป็นไปได้ปิดให้หมดครับ หรือทำให้เงินจำนวนนี้คงเหลือน้อยที่สุด เพราะดอกเบี้ยที่คุณต้องจ่ายเวลาออกมาแล้วมีรายได้ไม่แน่นอนจะทำให้เป็นภาระหนักอึ้งสำหรับคุณแน่นอน

2. เงินเก็บ ควรมีเงินเก็บกันสำรองเอาไว้ใช้อย่างน้อย 3 เดือนโดยไม่เดือดร้อนครับ เงินจำนวนนี้ควรเก็บให้เย็บเจี๊ยบ อย่าเอามาใช้จ่ายถ้าไม่จำเป็น

3. เงินลงทุน ควรมีกองเงินสำหรับลงทุนในกองทุนรวมฯ หรือตราสารหนี้ให้ออกดอกออกผลไว้ส่วนหนึ่ง เป็นทางเลือกที่สองลองจากตลาดหุ้น ถ้าจะให้ดีควรลงทุนโดยนำเงินกองที่สองมาร่วมด้วย (ในกรณีที่มีความรู้ในการลงทุนในกองทุนรวมฯ พอสมควร) เพราะเก็บไว้กับธนาคารก็ไม่ชนะเงินเฟ้อครับ

4. เงินลงทุนในหุ้น เงินก้อนนี้เก็บสำรองไว้สำหรับลงทุนในหุ้นจริงๆ จังๆ เงินกองนี้อาจเป็นเงินจากงานประจำที่ใส่เข้าไปในพอร์ตหุ้นของเรา และจะให้ดีพอร์ตของเราควรใหญ่พอที่จะผลิตกระแสเงินสดด้วยตัวเองได้ ในกรณีของนักลงทุนแนวเน้นคุณค่าระยะยาวก็จะเป็นเงินปันผลที่จะหมุนทบต้นเข้าไปในพอร์ตหุ้นของเราอีกที ถ้าเก็บได้ตามเป้า และพร้อมก็ออกมาลงทุนเต็มตัวเลยครับ

 บริหารจัดการเงินก่อนลงทุน

แผนที่วางเอาไว้จะช่วยป้องกันความเสี่ยงได้มากครับ ถ้าไม่สามารถแบ่งเงินได้ตามนี้ก็ขอให้ปิดสารพัดเงินผ่อนให้ตัวเบาๆ เข้าไว้จะดีที่สุดครับ พร้อมแล้วค่อยออกมาลงทุนเต็มตัว หรือบางคนอาจจะออกจากงานประจำมาทำธุรกิจก็ยังไม่สาย หากเราไม่ขยันก่อหนี้ใหม่ๆ ก็มีโอกาสเป็น “อิสระ” ได้มากขึ้นครับ

จากที่เล่ามาข้างต้นก็ยังมีข้อยกเว้นสำหรับคนที่มีความรู้ในการลงทุนแบบเต็มเหนี่ยวครับ เพราะบางทีคนที่มั่นใจว่าสามารถทำได้แน่ ลงทุนในตลาดหุ้นได้ และลงมือทำทันทีก็อาจไม่ต้องรอสะสมเสบียงอย่างที่กล่าวมาก็ได้ครับ แต่ความเสี่ยงนั้นมักจะไม่แน่นอน จะดีกว่ามากถ้าเราได้บริหารเงินลงทุนไว้ล่วงหน้าก่อน คุณผู้อ่านเห็นด้วยหรือไม่ล่ะครับ…

 

(นายแว่นธรรมดา)