วีไอมือใหม่ “การเพิ่มทุน คืออะไร (อีกที)”

กระแสการเพิ่มทุนในตลาดหุ้นในช่วงนี้ค่อนข้างจะ “ร้อนแรง” โดยเฉพาะหุ้นบางตัวที่มีการเพิ่มทุน ทั้งแบบ PP และแบบ RO วัตถุประสงค์เพื่อล้างขาดทุนสะสม และขยายการลงทุนใหม่ๆ หลายๆ คนอาจจะรู้สึกสับสันว่าเพิ่มทุนคืออะไร ทำแล้วดีหรือไม่ บทความนี้มีคำตอบครับ ไปดูกันเลยครับ

New VI 01

[premium level=”1″ teaser=”no” message=”หากต้องการอ่านบทความเพิ่มเติม กรุณา”]

การเพิ่มทุน มีทั้งสิ้น 5 วิธี ประกอบไปด้วย

1) IPO ย่อมาจากคำว่า “Initial Public Offering” หมายถึง การเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อประชาชนในครั้งแรก ในสนามรบการค้า เมื่อ CEO นำทัพออกศึกไปสักระยะหนึ่ง ก็มักจะมีความจำเป็นต้องหาเงินเข้ามา เพื่อช่วยให้กองทัพสามารถขยายไปครอบครองพื้นที่การตลาด เงินที่จะหาเข้ามานี้ จะไปกู้มาจากเจ้าหนี้ หรือจะไปเพิ่มทุน ย่อมทำได้ ขึ้นอยู่กับว่าโครงสร้างทุนของกองทัพอยู่ในสถานใด ถ้ามีเจ้าหนี้และเงินกู้ยืมเยอะ เรียกว่ามี Debt สูง แต่ด้านส่วนของทุน คือEquity มีน้อย พูดง่ายๆ คือมี Debt to equity (D/E) ratio สูง ก็ต้องตัดสินใจเสนอให้สภาสงครามคือ คณะกรรมการพิจารณาเพิ่มทุน เป็นที่มาของการเสนอขายหุ้นออกใหม่ในตลาดหลักทรัพย์หรือหุ้น IPO นั่นเองครับ

2) PP ย่อมาจากคำว่า “Private Placement” หมายถึง การที่บริษัทออกหุ้นขายให้แก่ผู้ซื้อรายหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่ง โดยเจาะจงโดยที่ผู้ซื้อรับซื้อไว้เพื่อลงทุน มิใช่รับซื้อมาเพื่อนำออกจัดจำหน่าย การออกหุ้นขายแบบ Private Placement บริษัทผู้ออกหุ้นไม่ต้องจัดทำข้อมูลให้สำนักงาน ก.ล.ต. พิจารณา แต่วิธี Private Placement จะต้องเข้าเกณฑ์เงื่อนไขที่กำหนดโดย ก.ล.ต. (ข้อมูลเพิ่มเติมของ PP อยู่ที่ http://www.sec.or.th)

โดยก่อนเข้าตลาดหุ้น CEO ของบริษัทต่างๆ จะมีทางเลือกน้อย เพราะถ้าไม่เพิ่มทุนด้วยเงินตัวเอง เนื่องจากถือหุ้นเกือบ100% บางทีลงทุนจนหมดตัว ลงทุนต่อไม่ไหว ก็ต้องหาคนอื่นมาร่วมทุน ด้วยวิธีมิตรใหม่ใจถึง จะทำตามวิธีอื่นอาจติดขัดด้วยกฎหมาย แต่เมื่อเข้ามาในตลาดหุ้นแล้วจึงสามารถทำการเพิ่มทุนแบบ Private placement ถ้าโชคดีคุยกับคนที่เข้าใจและสนใจ มีความต้องการที่ตรงกัน ก็สามารถตกลงปลงใจร่วมทุนกันเลย มีคนที่สนใจจะร่วมทุนแบบนี้ โดยจัดเป็นกองทุนร่วมทุน (Venture Capital) อาชีพหลัก คือคอยเข้าไปร่วมทุนกับบริษัทที่กำลังเติบโต ลงทุนสัก 3-4 ปี ถ้าธุรกิจของบริษัทเริ่มไปได้ดี ก็อาจจะเสนอขายคืนเจ้าของโดยมีกำไร หรือจะรอจนหุ้นเข้าตลาด ค่อยขายก็ได้ ซึ่งหากหุ้นเข้ามาซื้อขายในตลาดหุ้นแล้วการเพิ่มทุนแบบ PP ก็จะช่วยเสริมสภาพคล่องแก่บริษัทได้ครับ

3) PO ย่อมาจากคำว่า “Public Offering” หมายถึง การเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อประชาชนในครั้งต่อ ๆ ไป เมื่อบริษัทต้องการเสริมทุนในบางกรณี บริษัทจงใจขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไป (Public Offering : PO) โดยไม่ได้ให้สิทธิพิเศษใดๆ กับผู้ถือหุ้นเดิมในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนได้ก่อน ซึ่งเป็นวิธีการเพิ่มทุนที่ผู้ถือหุ้นเดิมเสียสิทธิ์ กรณีเช่นนี้ บริษัทมักจะอ้างว่าเป็นเพราะหุ้นเก่ามีจำนวนผู้ถือหุ้นน้อยเกินไป เลยถือโอกาสกระจายหุ้นให้คนใหม่ๆ บ้างเพื่อเพิ่มสภาพคล่องไปในตัว เหตุผลนี้โดยส่วนตัวผมรู้สึกว่าฟังไม่ขึ้น ผมมักจะคิดในใจว่า น่าจะเป็นเหตุผลส่วนตัวของผู้ถือหุ้นใหญ่บางคนมากกว่าที่ไม่อยากซื้อหุ้นเพิ่มทุนด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่มาตัดสิทธิ์ผู้ถือหุ้นเดิมทุกคนไม่ให้มีสิทธิ์ซื้อหุ้นเพิ่มทุนนั้นก่อนซะงั้น หรือว่ารู้ตัวว่าเคยหักหลังผู้ถือหุ้นเก่ามาก่อน ก็เลยกลัวผู้ถือหุ้นเก่าไม่ซื้อ ไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านท่านใดมองเห็นเหตุผลอย่างอื่นที่ดีๆ ของ PO ที่ผมอาจจะมองข้ามไปหรือเปล่า ถ้าหากคิดออกช่วยแชร์ด้วย ผมคิดไม่ออกจริงๆ โดยส่วนตัวแล้ว ผมว่าการออก PO ถือเป็นสัญญาณลบอย่างหนึ่งเกี่ยวกับธรรมภิบาลของบริษัท

4) Right Issues หรือ Right Offering หมายถึง การเพิ่มทุนโดยให้สิทธิผู้ถือหุ้นเดิมจองซื้อหุ้นใหม่ตามสัดส่วน ซึ่งผมเข้าใจว่ามักจะมีการขึ้นเครื่องหมาย XR (Excluding Right) ซึ่งเป็นเครื่องหมายแสดงว่า ณ วันที่ขึ้นเครื่องหมาย XR ผู้ลงทุนที่ซื้อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนดังกล่าวไม่มีสิทธิในการจองซื้อหุ้นสามัญจากการเพิ่มทุนในครั้งนั้นของบริษัท หากผู้ลงทุนต้องการได้สิทธิในการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน จะต้องซื้อหุ้นนั้นก่อนวันขึ้นเครื่องหมาย XR

นักลงทุนควรจะหัดคำนวณราคาใหม่ในทางทฤษฎีหลังวัน XR ให้เป็น เพื่อจะได้รู้ว่าราคาที่ร่วงลงไปนั้นถูกหรือแพงเกินไปโดยยึดหลักการที่ว่า “กลทางการเงินใดๆ ต้องใกล้เคียงมูลค่าของบริษัทเดิม” เรื่องนี้ก็จะเป็นเรื่องง่าย หมายความว่า มูลค่าบริษัทหลังเพิ่มทุนควรจะต้องมีค่าเท่าเดิมอยู่

ตัวอย่างการคำนวณเมื่อหุ้นขึ้น XR

สมมติว่าเดิมบริษัทมี 1,000 ล้านหุ้น ราคาในกระดานหุ้นละ 1 บาท (แสดงว่าบริษัทมีมูลค่าเท่ากับ 1,000 ล้านบาท) ต่อมาบริษัทเพิ่มทุนในอัตรา 1 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ โดยให้สิทธิ์ผู้ถือหุ้นเดิมซื้อหุ้นใหม่ในราคาหุ้นละ 1 บาท เท่ากับว่าออกหุ้นเพิ่มทุน 1,000 ล้านหุ้น และบริษัทจะได้รับเงินจากการเพิ่มทุนทั้งสิ้น 1,000 ล้านบาท และหลังเพิ่มทุนแล้วบริษัทจะมีหุ้นทั้งหมด 2,000 ล้านหุ้น อย่างนี้ ราคาหุ้นหลังขึ้นเครื่องหมาย XR ควรเป็นเท่าไร?

ก่อนเพิ่มทุนบริษัทมีมูลค่า 1,000 ล้านบาท

เงินเพิ่มทุนที่จะใส่เข้ามาในบริษัทอีก 1,000 ล้านบาท

ดังนั้นหลังวัน XR บริษัทก็ควรมีค่าเท่ากับ 2,000 ล้านบาท

เนื่องจากหลัง XR บริษัทมีหุ้นเพิ่มเป็น 2,000 ล้านหุ้น

ดังนั้นมูลค่าบริษัทต่อหุ้นก็ควรจะเป็น 2,000/2,000 หรือเท่ากับ 1 บาทต่อหุ้นในวันแรกที่ XM นั่นเองครับ

ถ้าวันนั้นตลาดไม่ได้มีข่าวสำคัญอย่างอื่นเข้ามา หุ้นก็ควรมีราคาไม่เปลี่ยนแปลง บางคนอาจแย้งว่า แล้วไม่ให้มูลค่าการเติบโตเลยหรือ บริษัทเพิ่มทุนเพราะมีโครงการขยายกิจการ มูลค่าของบริษัทหลังเพิ่มทุนจึงน่าจะเพิ่มขึ้นได้มากกว่าเงินสดที่ใส่เข้ามา คำตอบก็คือควรจะ “ไม่” ครับ เพราะโดยมากแล้ว ก่อนที่จะถึงวัน XR บริษัทมักมีการสื่อสารกับนักลงทุนเรื่องแผนการเติบโตมาก่อนแล้ว ราคาหุ้นก่อนวัน XR จึงมักรวมความคาดหวังของนักลงทุนเกี่ยวกับแผนการเติบโตไว้ในราคาเรียบร้อยแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องให้พรีเมี่ยมเพิ่มอีกในวัน XR ครับ

5) Warrant หมายถึง ใบสำคัญแสดงสิทธิ์ที่ใช้แปลงเป็นหุ้นสามัญที่บริษัทเจ้าของหุ้นเป็นผู้ออกเอง และในการออกวอร์แรนท์นั้นทางบริษัทจะต้องออกหุ้นเพิ่มทุนเวลาที่มีการแปลง สภาพเข้ามาเป็นตัวหุ้นสามัญ ในส่วนของวอร์แรนท์นั้นเป็นสิทธิ์ในการแปลงหุ้น โดยราคาแปลงหุ้นจะเป็นราคาสุดท้ายของวันหมดอายุครับ

ไว้บทความต่อๆ ไปเราจะมาเรียนรู้ศัพท์ทางการเงิน และวิธีที่เราควรปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ เพื่อให้รู้เท่าทันนักลงทุน และเจ้าของบริษัทในตลาดหุ้นนะครับ (นายแว่นธรรมดา)

(เรียบเรียงจาก M&W และ Set.or.th)

[/premium]

เปิดรับสมัครสมาชิก

เว็บบล็อก “นายแว่นธรรมดา” เปิดรับสมัครสมาชิกรายปีครับ โดยท่านที่สมัครจะได้รับของที่ระลึกจากนายแว่นธรรมดาครับ ใครยังไม่สมัครต้องรีบหน่อยนะครับ ของแถมล็อตนี้ใกล้หมดละครับ สนใจรายละเอียดการสมัครติดตามได้ที่นี่เลยครับ คลิ๊กเพื่อดูรายละเอียดการสมัครสมาชิก

product naiwaen 01