บันทึกนายแว่นธรรมดา "เกมการลงทุนของพ่อมดการเงิน จอส โซรอส"

การทำความเข้าใจเกมการลงทุนในหุ้นนั้น วิธีที่ดีวิธีหนึ่งก็คือ “การศึกษาจากนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จ” ถ้าจะให้มองนักลงทุนประเภท “กล้าได้ กล้าเสีย” ผมก็นึกถึงคนๆ หนึ่งนั่นก็คือ จอส โซรอส นั่นเองครับ

โซรอส (Soros) เป็นอภิมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยมาจากการลงทุน แต่คนส่วนใหญ่มักจะเห็นนักลงทุนคนนี้ในรูปแบบของ “พ่อมดการเงิน” ซึ่งอาจเป็นความหมายที่ไม่ค่อยจะดีนัก แต่ทุกอย่างมีสองด้านเสมอครับ เราลองทำใจกลางๆ แล้วมาศึกษาเกมการลงทุนของโซรอสกันดูเผื่อจะได้แนวทางในการลงทุนในหุ้นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเราเองก็ได้ครับ

การลงทุนของโซรอสนั้นจะเน้นไปที่ “จิตวิทยาตลาด” หรือจิตวิทยาการลงทุน เคยมีคนกล่าวเอาไว้ว่าโซรอสจะหยุดเทรด หรือหยุดซื้อขายหุ้นเมื่อรู้สึกปวดหลัง หมายความว่า โซรอสจะไม่ลงทุนเมื่อรู้สึก “เครียด” เพราะความเครียดนั้นอาจทำให้การตัดสินใจผิดพลาดได้ง่ายกว่าการลงทุนเมื่อจิตใจของตนสงบ
ทฤษฏีการลงทุนของโซรอสนั้นค่อนข้างจะแตกต่างกับการลงทุนของคนทั่วไปครับ จากความเป็นนักเก็งกำไรที่ไม่ใช่เฉพาะเก็งกำไรในหุ้นเท่านั้น โซรอสได้คิดค้นทฤษฏีที่เรียกว่า “Reflexivity” โดยความหมายของทฤษฏีนี้จะเชื่อว่า การที่บุคคลที่เกี่ยวข้องเห็นการประเมินมูลค่าของตลาดทุน จะมีผลกระทบต่อกลไกการประเมินมูลค่าของตลาดนั้นๆ พูดง่ายๆ ก็คือโซรอสจะคิดกลับด้านกับนักลงทุนส่วนใหญ่เสมอครับ

ในความคิดของโซรอสนักลงทุนส่วนใหญ่ที่มักจะคิดในมุมมองสั้น หรือในด้านเดียว เช่น หากพบกับหุ้นที่คิดว่าดี ก็มักจะอยากซื้อเก็บเอาไว้ โดยไม่พิจารณาให้รอบด้านว่าอาจมีคนเห็นต่าง และอยากจะขายหุ้นตัวนั้นออกมา

“เวลาที่เราอยากซื้อหุ้นตัวหนึ่งมากๆ จงระลึกไว้ว่ามีคนที่อยากจะขายหุ้นตัวนั้นให้กับเราเช่นกัน”

นักลงทุนบางท่านพบหุ้นที่คิดว่าดี แต่มีราคาสูงแล้ว ในใจแม้อยากจะได้หุ้นตัวนั้นแต่ก็คิดว่าจะรอให้หุ้นปรับตัวลงก่อนจึงค่อยซื้อ ลักษณะนี้จะเรียกว่า “ความต้องการแฝง” หมายความว่ามีความอยากที่จะได้หุ้นตัวนั้น แต่ยังไม่มีความต้องการซื้ออกมานั่นเอง

สำหรับนักลงทุนที่มีประสบการณ์สูงอย่างโซรอส วิธีการจุดไฟล่อนักลงทุนรายย่อยที่มีความต้องการแฝงอยู่นั้นไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นอะไรเลยครับ เพียงแค่ทำให้ราคาหุ้นขยับตัวสูงขึ้นไปอีกหน่อย เมื่อนักลงทุนรายย่อยเห็นว่าหุ้นปรับตัวสูงขึ้นไปอีก ใจก็จะกลัวว่าจะพลาดโอกาสสำคัญ หรือ “กลัวตกรถ” ความต้องการแฝงนั้นก็จะ “ระเบิดออกมา” ทำให้เข้าไปซื้อหุ้นในราคาที่ขยับขึ้น จุดที่นักลงทุนรายย่อยเข้าไปซื้อ คือจุดที่โซรอสจะคายของออกมานั่นเองครับ

ตัวอย่างของวิธีการลงทุนในสไตล์ “พ่อมดการเงิน” นั้นก็คือการจ้องเก็งกำไรจาก “ค่าเงินบาท” ในสมัยวิกฤติต้มยำกุ้ง และการเก็งกำไรค่าเงินปอนด์ ซึ่งทำให้ธนาคารกลางของประเทศอังกฤษเกือบเข้าขั้นล้มละลาย (รายละเอียดเพิ่มเติมติดตามได้ในหนังสือ “วิกฤติการเงินพารวย” โดย นายแว่นธรรมดา และ ดร.กุ๋ย นะครับ)

เกมการลงทุนของโซรอสนั้นในสายตาของ VI ต้องถือว่าเป็นเกมการลงทุนที่ “ร้อนแรง” เป็นอย่างยิ่งครับ มีคนเคยเปรียบการลงทุนของนักลงทุนแนวเน้นคุณค่าระดับโลกท่านหนึ่ง คือ “วอเรนต์ บัฟเฟตต์” กับ “โซรอส” เหมือนกับว่า หากเป็นการล่าสัตว์ บัฟเฟตต์จะคอยดักซุ่มในพุ่มไม้เพื่อเล็งธนูไปยังสัตว์ตัวที่เหมาะสมโดยไม่สนใจสัตว์เล็กสัตว์ตัวน้อย แต่โซรอสนั้นจะ “เผาป่า” เพื่อให้สัตว์ทุกตัววิ่งหนีออกมา และจับอย่างง่ายดาย อันที่จริงบัฟเฟตต์ ก็รู้ดีถึงวิธีการของโซรอส แต่ไม่ได้ห้ามปรามอะไร เพราะเวลาที่สัตว์วิ่งกระโจนจากไฟป่านั้น บัฟเฟตต์เองก็ได้จับสัตว์ที่เล็งเอาไว้ด้วย

เป็นอย่างไรบ้างครับสำหรับเกมการลงทุนเกมการลงทุนของพ่อมดการเงิน เราจะค่อยๆ มาศึกษาเกมการลงทุนของนักลงทุนคนต่อๆ ไป และเรียนรู้ให้ทันกับ “เกมหุ้น” เพื่อเสริมแกร่งให้กับ VI มือใหม่ทุกท่านครับ

soros 03