บทความสำหรับนักธุรกิจ SME “ช่องทางการค้าของ SME ยุค AEC”

สวัสดีครับเพื่อนๆ เมื่อเดือนที่ผ่านมาทีมงานนายแว่นธรรมดาได้เข้าร่วมงาน Krungsri Business Matching Day 2014 ที่จัดขึ้นที่โรงแรม เอส31 (S31) วันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยธนาคารกรุงศรีอยุธยา ภายในงานมีกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ระหว่าง SME กับคู่ค้าอย่าง Loxley และ CPAll ที่จะนำพาธุรกิจของ SME ไปสู่ตลาด ACE และเพิ่มความรู้ในตลาด AEC และตลาดออนไลน์ จากผู้มีประสบการณ์จริง ด้วยหัวข้อ เสวนาเรื่อง “SME ในยุค AEC” และ “O2O : Online 2 Offline” ปิดท้ายด้วย Speed networking ที่จะสร้างเครือข่ายให้กับธุรกิจ SME  หาคู่ค้าและได้ต่อยอดทางธุรกิจกันได้อย่างรวดเร็ว จากงานวันนั้นผมจะนำความรู้ มาถ่ายทอดสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการทำธุรกิจให้เพื่อนๆที่สนใจ ได้รับทราบกันครับ (อ้างอิง www.krungsri.com )

krungsri business

สมัยนี้ทุกคนรู้จัก SME กันเป็นอย่างดี SME ย่อมาจาก Small Medium Enterprise ในภาษาไทยก็จะหมายถึง วิสาหกิจขนาดกลางหรือขนาดย่อม ครอบคลุมถึง การผลิตครอบคลุมการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม เหมืองแร่ การค้าปลีก การค้าส่ง และการบริการ โดยมีเกณฑ์การจำแนกกิจการของ SME วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม คือ

  1. มูลค่าขั้นสูงของสินทรัพย์ถาวร
  2. จำนวนการจ้างงาน

การจำแนกตามมูลค่าขั้นสูงของสินทรัพย์ถาวร จำแนกได้ดังนี้

  1. การผลิต วิสาหกิจขนาดกลางไม่เกิน 200 ล้านบาท วิสาหกิจขนาดเล็กไม่เกิน 50 ล้านบาท
  2. การบริการ วิสาหกิจขนาดกลางไม่เกิน 200 ล้านบาท วิสาหกิจขนาดเล็กไม่เกิน 50 ล้านบาท
  3. การค้า

3.1.    ค้าส่ง วิสาหกิจขนาดกลางไม่เกิน 100 ล้านบาท วิหาสกิจขนาดเล็กไม่เกิน 50 ล้านบาท

3.2.    ค้าปลีก วิสาหกิจขนาดกลางไม่เกิน 60 ล้านบาท วิสาหกิจขนาดเล็กไม่เกิน 30 ล้านบาท

การจำแนกตามจำนวนการจ้างงาน จำแนกได้ดังนี้

  1. การผลิต วิสาหกิจขนาดกลางไม่เกิน 200 คน วิสากิจขนาดเล็กไม่เกิน 50 คน
  2. การบริการ วิสาหกิจขนาดกลางไม่เกิน 200 คน วิสาหกิจขนาดเล็กไม่เกิน 50 คน
  3. การค้า

3.1.    ค้าส่ง วิสาหกิจขนาดกลางไม่เกิน 50 คน วิสาหกิจขนาดเล็กไม่เกิน 25 คน

3.2.    ค้าปลีก วิสาหกิจขนาดกลางไม่เกิน 30 คน วิสาหกิจขนาดเล็กไม่เกิน 15 คน

เพื่อนๆได้ทำความเข้าใจกับความหมายของ SME กันเป็นอย่างดีแล้วคราวนี้มาทำความรู้จักกับ AEC กันบ้างนะครับ AEC เป็นหนึ่งในเสาหลัก 3 เสาของ ASEAN (The Associate of South East Asian Nations) ซึ่ง 3 เสาอาเซียนประกอบไปด้วย

  • ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economic Community: AEC )
  •  ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (  Socio-Cultural Pillar)
  • ประชาคมความมั่นคงอาเซียน (Political and Security Pillar)

ปัจจุบันมีชาติสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศ ได้แก่ ไทย พม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม ลาว กัมพูชา บรูไน สำหรับการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนภายในปี 2558 เพื่อให้อาเซียนสามารถเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ แรงงาน ฝีมือ การลงทุน ได้อย่างเสรี อนาคตจะมีการพัฒนาเป็น อาเซียน+3 ได้แก่เพิ่ม ประเทศ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น และต่อไปจะเพิ่มเป็น อาเซียน+6 ได้แก่เพิ่ม ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย โดยลำพังอาเซียนเองก็มีประชากรรวมกันประมาณ 600 ล้านคน โดยมีประเทศอินโดนีเซีย ที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามประมาณ 240 ล้านคน หากต่อไปได้พัฒนาเป็น อาเซียน+6 แล้วจะทำให้กลุ่มประชาคมเศรษฐกิจแห่งนี้มีประชากรเกือบครึ่งโลก ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่และมีความน่าสนใจอย่างมาก

SpeedNetworking_final Krunsri

 

 

ในการเสวนาหัวข้อ “SME ในยุค AEC” ที่มีผู้เสวนาดังนี้ คือ คุณณัฐพล เดชวิทักษ์ จาก บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) คุณชุลิดา แท่นเพ็ชร์รัตน์ จากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และคุณสุรชา ชีพชล จากบริษัท ซิกม่า ฟูดส์ มาร์เก็ตติงค์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำผลไม้ โชคดี ได้ให้แง่คิดและถ่ายทอดประสบการณ์การทำธุรกิจผ่าน AEC พอสรุปได้ดังนี้

krungsri business 01

  1. การจะนำธุรกิจ SME สู่ตลาด AEC นั้นต้องอาศัย หุ้นส่วน(Partner) การมีหุ้นส่วนในแต่ละประเทศจะทำให้สินค้าของเราสามารถกระจายไปสู่กลุ่มเป้าหมายของเราได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น
  2. สินค้าต้องตอบโจทย์ผู้บริโภค ในการก้าวสู่ตลาด AEC นั้นสิ่งที่จะสามารถเรียกให้ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำได้นั้น ต้องอาศัยนวัตกรรม และ ความสวยงามของหีบห่อ (Packaging) นั้นต้องสามารถดึงดูดลูกค้ามาซื้อให้ได้
  3. ศึกษากฎระเบียบของประเทศนั้นให้ดี การที่แต่ละประเทศงดกำแพงภาษีในตลาด AEC นั้นใช่ว่าสินค้าที่ส่งไปนั้นจะสามารถขายให้ลูกค้าได้ หากผู้ประกอบการ SME ทำไม่ถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับของ ระเบียบกฎหมายในแต่ละประเทศที่ออกมาเพื่อปกป้องผู้บริโภค เป็น Non-tariff Barriers เช่น สารที่ใส่ในอาหารต้องมีปริมาณที่กฎหมาย(แต่ละประเทศ)กำหนด หาก SME ลืมดูกฎระเบียบข้อนี้อาจจะต้องสูญเสียเงินในการนำสินค้ากลับก็เป็นได้
  4.  การเข้าสู่ตลาด AEC นั้น SME ต้องประเมินกำลังตนเอง ทั้งในด้านเครื่องจักร กำลังการผลิต และปัจจัยการเงิน ให้มีเพียงพอแก่การเข้าสู่ตลาด AEC
  5. ต้องมีกระบวนการ (Process) ที่ก่อให้เกิดความได้เปรียบทางด้านราคา ต้นทุน จะทำให้ SME สามารถแข่งขันในตลาด AEC ได้
  6. ต้องมี Passion คือการสร้างแรงปรารถนาในการดำเนินธุรกิจ โดย Passion นี้จะปรากฏในตัวสินค้า หรือตามสื่อต่างๆให้ลูกค้าได้รับรู้นอกเหนือไปจาก 4P ที่ทุคนรู้จัก
  7. การเลือกตลาดให้ถูกต้อง ตรงกับกลุ่มลูกค้าจะเป็นการช่วยให้ SME สามารถวางตำแหน่งสินค้าได้ถูกต้อง เช่น ต้องเลือกวางสินค้าในตลาดแบบ Modern Trade หรือ Traditional Trade ซึ่ง 2 ตลาดนี้จะมีพฤติกรรมต่างกันมีช่องทางที่ไม่เหมือนกัน Modern Trade นั้นจะใช้เงินมากเพื่อทำให้ผู้บริโภครู้จักกับตัวสินค้า เช่น การลงโฆษณา เป็นต้น ส่วน Traditional Trade นั้นจะเน้นทางด้านต้นทุน ราคา ให้มีราคาต่ำจึงจะเข้าถึงผู้บริโภคได้
  8. สิ่งสำคัญสุดท้ายคือ คุณภาพ คำว่าคุณภาพในที่นี้นอกจากจะต้องมีในสินค้าโดยตรงแล้ว เช่น รสชาติของน้ำผลไม้ที่คงที่ สีของน้ำผลไม้ที่ได้รับการควบคุมให้คงที่เหมือนกันทุกขวด สิ่งที่ต้องมีเสริมจากตัวสินค้าคือ การตรงต่อเวลา อันนี้จะสำคัญสำหรับผู้กระจายสินค้า เพราะผู้กระจายสินค้ารู้ว่าสินค้าหมดต้องการสินค้าเพิ่ม SME ต้องตอบสนองให้ตรงเวลาจึงจะสร้างความน่าเชื่อถือให้กับสินค้าได้

ต่อมาการเสวนนาหัวข้อเรื่อง O2O : Online2Offline ที่เสวนาโดย คุณผรินทร์ สงฆ์ประชา จาก บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) คุณบรรณสี ธเนศวาณิชย์ จาก บจก. กรีนเอิร์ธ ไบโอเทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ความงาม Facy และ Mr.Harry  Tan จาก บริษัท แอตแลนติก ฟู้ดส์ จำกัด ผู้ประกอบการเจ้าของผลิตภัณฑ์ Popcorn New York

krungsri business 02

เริ่มจากความน่าสนใจของตลาด Online ที่ในระยะ 2 ปี ที่ผ่านมาตลาด Online เติบโตมากขึ้นถึง 80 เปอร์เซ็นต์ จาก โทรศัพท์ (Smartphone) ที่สามารถเข้าสู่ระบบอินเตอร์เน็ทได้ ราคาถูกลงทำให้คนไทยสามารถเข้าถึง อินเตอร์เน็ทได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น รวดเร็วขึ้น หากเทียบจากรายได้แล้ว 1 ใน 3 ของรายได้จะมาจาก Online และตลาดออนไลน์ยังคงเติบโตต่อไป ต่อไปนี้คือบทสรุปเทคนิคการทำ Online2Offline

  1. ผู้ประกอบการ SME ต้องเตรียมพร้อมเรื่อง การจัดการ เช่น การตอบกลับความต้องการของลูกค้า การจัดการเรื่องการสร้างแบรนดสินค้า
  2.  ฐานข้อมูล (Database) เป็นสิ่งจำเป็นที่ใช้เชื่อมโยงระหว่าง Online กับ Offline การที่ผู้ประกอบการ SME ได้ อีเมลของลูกค้า ที่อยู่ลูกค้า ทำให้เราสามารถที่จะติดต่อลูกค้าเพื่อให้ข้อมูลสินค้าใหม่ หรือทำให้ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำได้
  3. ผู้ประกอบการ SME ต้องเกาะกระแส Online ไว้ เพราะว่าในยุคดิจิตอลนี้ แอพพลิเคชั่นใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ผู้ประกอบการต้องติดตามข่าวสารว่าผู้บริโภคนิยมใช้แอพพลิเคชั่นใด เช่น ผู้ประกอบการ SME ยึดถือเพียง Facebook เพียงช่องทางเดียว หากวันหนึ่ง Facebook เกิดได้รับความนิยมลดลง นั้นย่อมส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบการอย่างแน่นอน
  4. ถึงแม้ว่ายุคนี้เป็นยุคดิจิตอล แต่การที่จะให้ลูกค้าได้พูดคุยกับมนุษย์ หรือเจ้าของผลิตภัณฑ์นั้นจะทำให้ ลูกค้ารู้สึกประทับใจได้มากกว่าเสียงอัตโนมัติ
  5. รับฟังเสียงของลูกค้า (feedback) การรับฟังข้อคิดเห็นจากลูกค้าจะทำให้ผู้ประกอบการได้พัฒนาสินค้า ช่องทางการขาย เช่น Popcorn New York ที่ได้พัฒนาขนาดของสินค้าเพิ่มขึ้น เนื่องมาจากเสียงของลูกค้าที่โพสต์ทาง Facebook
  6. หลีกเลี่ยงตลาดที่แข่งขันกันดุเดือด (Red Ocean) ให้หาตลาดที่เป็น  Niche Market ตลาดจำเพาะหรือตลาดที่การแข่งขันไม่ดุเดือด (Blue Ocean)
  7. ผู้ประกอบการ SME ต้องศึกษาข้อมูลและพัฒนาสินค้าอยู่เสมอ เพราะลูกค้าแต่ละประเทศมีความต้องการที่แตกต่างกัน เช่น Popcorn New York เคยประสพปัญหาสินค้าขายไม่ได้เลยในสิงคโปร์ เนื่องจากรสชาติ ที่ไม่ตรงกับความต้องการของลูกค้า
  8. ผู้ประกอบการ SME ควรทำ online ควบคู่ไปกับ offline ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จใน offline ก็ควรที่จะเข้ามาพัฒนาช่องทาง online ส่วนผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จทาง online ก็ควรที่จะเริ่มสร้างทาง offline เพราะจะทำให้สินค้ามีความแข็งแกร่งมากขึ้น
  9. ผู้ประกอบการควรสร้างเว็บไซต์ของตัวเองไว้ เพื่อเป็นช่องทางที่จะทำให้ลูกค้า สามารถศึกษารายละเอียดของสินค้าผ่านทางเว็บไซต์ได้ดีกว่าทางโซเชียลมีเดีย เพราะทางสื่อสารทางโซเชียลมีเดียอาจจะไม่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างครบถ้วน

เป็นอย่างไรบ้างครับจากประสบการณ์ความรู้ของผู้เสวนาทั้งสองหัวข้อ ทำให้ผู้ประกอบการ SME มีแนวทางที่จะใช้ปรับปรุง พัฒนาเตรียมความพร้อมไปสู่ช่องทางการตลาดใหม่ๆด้วยความมั่นใจได้บ้างนะครับ

กิจกรรมสุดท้ายของ Krungsri Business Matching 2014 คือ Speed Networking “การสร้างเครือข่ายอย่างรวดเร็ว” โดยจะทำให้ผู้ประกอบการสร้างเครือข่ายได้อย่างรวดเร็วภายในเวลา 3 นาที โดยมีกติกาดังนี้ ให้ผู้ประกอบการ SME พูดถึงธุรกิจตนเอง ลักษณะของสินค้า สิ่งที่ต้องการต่อยอด ภายใน 2 นาที จากนั้น 1 นาทีสุดท้ายให้เพื่อนผู้ประกอบการอื่นๆได้ซักถาม จากการสร้างเครือข่ายรูปแบบนี้ทำให้ผู้ประกอบการ SME ได้พบวิธีการพัฒนาสินค้าใหม่ หรือลูกค้าที่ไม่คิดว่าจะสามารถเป็นลูกค้าได้

krungsri business 03

ผู้ประกอบการ SME ไทยต้องไม่ลืมที่จะสร้างเครือข่าย พันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อที่ผู้ประกอบการ SME จะได้ก้าวไปสู่ AEC ด้วยความแข็งแกร่งหากได้พันธมิตรที่ดี หรือเครือข่ายที่มั่นคง อาทิเช่น ธนาคารกรุงศรีอยุธยาที่ให้ความช่วยเหลือทางด้านเงินทุน กับ SME ถึง 3 เท่าของหลักทรัพย์ที่ใช้ค้ำประกัน หรือจะเป็น Loxley กับ CPAll ที่จะช่วยผู้ประกอบการ SME ได้กระจายสินค้าออกไปสู่ลูกค้าได้มากขึ้นด้วยช่องทางต่างๆที่ทั้งสองบริษัทนั้นมีช่องทางมากขึ้น www.krungsri.com

สุดท้ายผมขอเป็นกำลังใจให้ผู้ประกอบการ SME ทุกท่านสามารถเข้าสู่ AEC ที่จะมาถึงในปลายปี 2558  ได้อย่างแข็งแกร่ง มั่นคง สามารถสร้างงานสร้างรายได้ แข่งขันกับนานาประเทศได้ประสบความสำเร็จครับ

(นายแว่นธรรมดา)