หุ้นมีกี่ประเภท? & ประเมินมูลค่าหุ้นทำอย่างไร? & เลือกหุ้นลงทุนต้องทำอย่างไร?

หุ้น 5 พารวย smallเมื่อเราตัดสินใจได้แล้วว่าเราอยากลงทุนในหุ้นวันนี้เพื่ออนาคตที่ดีในวันข้างหน้า ขั้นตอนต่อมาก็คือการเลือกหุ้นเพื่อลงทุน เพราะหากเราเลือกหุ้นผิดตัว ผิดประเภทก็จะกลายเป็นความผิดพลาดอย่างร้ายแรงได้ครับ สำหรับประเภทหุ้นในเบื้องต้นนั้นแบ่งออกเป็น 5 ประเภท (อ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือ “หุ้น 5 พารวย” นะครับ) ดังต่อไปนี้

หุ้น 5 พารวย

  1. หุ้นปันผล (Dividend Stock) หุ้นประเภทนี้นักลงทุนสามารถคาดหวังผลตอบแทนได้ราวๆ 5-10% หลักการลงทุนควรเน้นความเสี่ยงต่ำในธุรกิจที่อิ่มตัว และมีรายได้สม่ำเสมอแล้ว ข้อดีคือความเสี่ยงต่ำ ได้ปันผลสม่ำเสมอ แต่ข้อเสียก็คือผลตอบแทนไม่สูงครับ
  2. หุ้นเติบโต (Growth Stock) หุ้นประเภทนี้นักลงทุนสามารถคาดหวังผลตอบแทนได้ราวๆ 10-30% โดยสามารถแบ่งได้เป็นหุ้นโตไวที่มีผลตอบแทนเกินกว่า 20% และหุ้นเติบโตธรรมดาที่มีผลตอบแทนเกิน 10% แต่ไม่มากไปกว่า 15% ครับ ข้อดีของการลงทุนในหุ้นประเภทนี้คือผลตอบแทนที่สูงกว่าหุ้นปันผล แต่ความเสี่ยงก็มีมากกว่าเช่นกัน อย่างไรก็ตามสำหรับนักลงทุนที่มีประสบการณ์มากจะมองว่าหุ้นประเภทนี้มีความเสี่ยงไม่สูง และคาดเดาอนาคตได้ง่าย
  3. หุ้นวัฏจักร (Cycle Stock) หุ้นประเภทนี้นักลงทุนสามารถคาดหวังผลตอบแทนได้ 100% ขึ้นไป หรือเรียกเป็นภาษาง่ายๆ ว่า 1 เด้ง (1 เด้ง = ผลตอบแทน 100%) หุ้นประเภทนี้ถือว่ามีความเสี่ยงสูงมาก เพราะหากเราลงทุนผิดเวลาเป็นวัฏจักร “ขาลง” เราก็จะ “ติดหุ้น” และบางครั้งขาลงอาจยาวนานเป็นปี เป็นสิบๆ ปีก็มีครับ แต่หากเราลงทุนถูกจังหวะเป็น “ขาขึ้น” เราก็สามารถคาดหวังผลตอบแทนได้อย่างน้อย 1 เด้งนั่นเอง
  4. หุ้นกลับตัว (Turn Around) หุ้นประเภทนี้นักลงทุนสามารถคาดหวังผลตอบแทนได้ 300% ขึ้นไป หรือเรียกเป็นภาษาง่ายๆ ว่า “3 เด้ง” หุ้นประเภทนี้ถือว่าเป็นหุ้นที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด แต่ผลตอบแทนกลับมาก็จะสูงถึง 3 เด้ง หรือ 3 เท่าตัวของราคาที่พื้นตัวกลับขึ้นมาครับ การจะลงทุนในหุ้นกลับตัวต้องอาศัยประสบการณ์ และชั่วโมงบินที่สูงพอ บวกกับความเป็นคน “กล้าเสี่ยง” และมีจินตนาการที่สามารถมองเห็นอนาคตออกว่าบริษัทจะฟื้นกลับมาเป็นบวกได้อย่างไร เพราะหากมองผิดถึงขั้นล้มละลายหมดตัวได้ครับ
  5. หุ้นที่มีทรัพย์สินแฝง (Asset Play Stock) หุ้นประเภทนี้เราไม่สามารถคาดหวังผลตอบแทนได้แน่นอน เพราะหุ้นประเภทนี้เป็นหุ้นที่เจ้าของมีสินทรัพย์ที่แฝงเอาไว้ในบริษัท และไม่ยอมนำออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เมื่อสินทรัพย์ไม่ถูกนำมาใช้ก็หมดโอกาสที่หุ้นจะสะท้อนมูลค่าจากสินทรัพย์แฝงออกมาครับ สินทรัพย์แฝงส่วนใหญ่จะเป็นที่ดินที่เจ้าของซื้อเก็บไว้ แต่วันดีคืนดี หากเจ้าของนำสินทรัพย์มาพัฒนาเพิ่มมูลค่า หุ้นก็จะสะท้อนมูลค่าออกมาตามผลตอบแทนที่ได้รับจากการพัฒนาสินทรัพย์ที่มีอยู่นั่นเอง

Port นายแว่นธรรมดา Yut

ประเมินมูลค่าหุ้นทำอย่างไร? & เลือกหุ้นลงทุนต้องทำอย่างไร? อ่านต่อที่นี่เลยครับ

[premium level=”1″ teaser=”no” message=”หากต้องการอ่านบทความเพิ่มเติม กรุณา”]

ราคาหุ้นมีกี่แบบ?

สำหรับมือใหม่ที่ยังไม่มีพื้นฐานการลงทุนเลย นอกจากการรู้จักกับประเภทของหุ้นแล้วอาจจะยังไม่เพียงพอครับ นักลงทุนที่จะประสบความสำเร็จควรมีความรู้เรื่องของ “ราคาหุ้น” ด้วย หลายคนอาจคิดว่าราคาหุ้นก็มีแบบเดียว คือ ราคาตลาด แต่ความจริงแล้วราคาหุ้นนั้นมี 4 แบบ ดังต่อไปนี้ครับ

ราคาหุ้น 4 แบบ

ราคาหุ้น หรือ มูลค่าหุ้น มีทั้งหมดอยู่ 4 ประเภท ดังต่อไปนี้

1) มูลหุ้นที่ตราไว้ หรือที่เรียกว่า “Par Value” เป็นราคาหุ้นที่กำหนดไว้นับตั้งแต่ตั้งกิจการ เช่น บริษัท A เปิดกิจการต้องการระดมทุนจากผู้ถือหุ้นเพื่อใช้ทำธุรกิจจำนวน 100 ล้านบาท กำหนดให้มีหุ้นทั้งหมด 10 ล้านหุ้น ดังนั้นราคาหุ้นที่ตราไว้เท่ากับ 10 บาทต่อหุ้น (100/10) มูลค่าหุ้นที่ตราไว้สามารถดูได้จากงบการเงินที่เป็นส่วนงบดุล (งบแสดงฐานะการเงิน) ในรายการส่วนของผู้ถือหุ้น

2) มูลค่าหุ้นตามบัญชี หรือที่เรียกว่า “Book Value” เป็นราคาหุ้นที่เกิดจากการทำธุรกิจที่ผ่านมา โดยมีสมการอย่างง่ายๆ

มูลค่าหุ้นตามบัญชี = มูลค่าที่ตราไว้ + กำไรสะสม (ขาดทุนสะสม)

ตัวอย่าง สมมติว่าบริษัท A มีมูลค่าที่ตราไว้ 1 บาทต่อหุ้น ต่อมาทำธุรกิจจนมีกำไรสะสมต่อหุ้นเท่ากับ 2 บาท ดังนั้น มูลค่าหุ้นตามบัญชีเท่ากับ 3 โดยมาจากการแทนสมการดังนี้

มูลค่าหุ้นตามบัญชี = 1 + 2 = 3 บาทต่อหุ้น

หรือ มูลค่าหุ้นตามบัญชีสามารถคำนวณได้จากงบการเงินล่าสุดโดยดูในงบแสดงฐานะการเงิน ซึ่งมีสมการดังนี้

มูลค่าหุ้นตามบัญชี = ส่วนของผู้ถือหุ้น / จำนวนหุ้น

3) มูลค่าหุ้นในตลาด หรือเรียกว่า “Market Value” เป็นราคาหุ้นที่มีการซื้อขายกันทุกวันทำการที่ตลาดหุ้นเปิด ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงแทบจะทุกวันที่มีการเปิดตลาดหุ้น โดยราคาหุ้นนี้จะเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามผลประกอบการของธุรกิจ ตามอารมณ์ของนักลงทุนในตลาดซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากปัจจัยแวดล้อมมากมาย อาทิ ตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่ประกาศออกมา ข่าวการเกิดภาวะสงครามระหว่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในประเทศ เป็นต้นมูลค่าหุ้นในตลาดนี้สามารถดูได้ตามสื่อต่างๆทั้งใน โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และเว็บไซด์ของตลาดหลักทรัพย์

4) มูลค่าหุ้นที่แท้จริง หรือเรียกว่า “Intrinsic Value” หรือ “Fair Value” เป็นราคาหุ้นที่คำนวณได้จากการคาดการณ์ผลประกอบการในอนาคตของธุรกิจ มูลค่าหุ้นที่แท้จริงคำนวณได้จากสูตร Discounted Cash Flow ดังต่อไปนี้

DCF Formular

การคำนวณ Discounts Cash Flow (DCF) สำหรับการลงทุนในหุ้น

การคำนวณ Discounts Cash Flow (DCF) หรือเรียกแบบง่ายๆ ว่า “การคิดลดเพื่อหามูลค่าหุ้น” นั้นหากเราดูผ่านสมการข้างบนก็ดูเหมือนว่ามันเป็นเรื่องยาก แต่ลองมาดูวิธีคิดแบบง่ายๆ ดังต่อไปนี้ครับ

DCF

 

เรื่องของการคิดลด การคิดลดที่นิยมกันมากที่สุดคือ “การคิดลดกระแสเงินสด” หรือ Discounted Cash Flow เรียกสั้นๆ ว่า “DCF” อันเป็นการหามูลค่าของเงินสดในอนาคตของกิจการนั้นๆ ทั้งนี้ “กระแสเงินสด” (Cash Flow) มีอยู่หลายประเภท แต่ที่นิยมกันมากที่สุดก็คือ “กระแสเงินสดอิสระ” หรือ Free Cash Flow (FCF) คุ้นหูกันบ้างมั้ยครับ?

เริ่มต้นจากสิ่งที่บริษัททำมาหาได้ นั่นก็คือ “กำไรจากการดำเนินงาน” (Operating Profit หรือ EBIT นั่นแหละ) และหัก “ภาษี” ออกไปด้วยตัว EBIT – Tax นี้ยังไม่ใช่กระแสเงินสด เพราะตัวกำไรมีการหักค่าใช้จ่ายบางอย่างที่ไม่ใช่เงินสดออกไป ได้แก่ ค่าเสื่อมราคา (Depreciation) และค่าตัดจำหน่าย (Amortization)

ดังนั้น ถ้าอยากได้กระแสเงินสด เราก็ต้องบวกค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่เงินสดกลับเข้าไปก่อนถึงจะได้กระแสเงินสดออกมา กระแสเงินสดตัวนี้เรียกว่า “กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน” (Operating Cash Flow)

Operating Cash Flow = EBIT – Tax + Depreciation + Amortization

แต่ยังก่อนครับ… สำหรับกระแสเงินสดที่คำนวณได้ ณ จุดนี้ บริษัทอาจจำเป็นต้องเอามันไปใช้ลงทุนเพื่อรักษาการเติบโตหรือขยายกิจการ เราเรียกค่าใช้จ่ายรายการนี้ว่า Capital Expenditure (CAPEX) รวมทั้งอาจต้องเก็บไว้เป็น “เงินทุนหมุนเวียน” (Working Capital) ด้วย เงินทุนหมุนเวียนดังกล่าว อาจเป็นบวกหรือลบก็ได้ ขึ้นอยู่กับความสามารถของบริษัทในการบริหาร ถ้าบริษัทบริหารจัดการดี เงินทุนหมุนเวียนก็จะเป็นบวก เท่ากับบริษัทมีกระแสเงินสดเพิ่มขึ้น แต่ถ้าบริษัทบริหารจัดการไม่ดี เงินทุนหมุนเวียนก็จะติดลบ ด้วยเหตุนี้ “การเปลี่ยนแปลงในเงินทุนหมุนเวียน” (Change in Working Capital) จึงต้องถูกนำมาคิดด้วย

เมื่อนำกระแสเงินสดจากการดำเนินงานมาหักรายการต่างๆ ข้างต้น ก็จะได้กระแสเงินสดที่เป็น “อิสระ” อย่างแท้จริง ซึ่งเราเรียกว่า Free Cash Flow to Firm หรือ “กระแสเงินสดอิสระของกิจการ”

Free Cash Flow to Firm = Operating Cash Flow – CAPEX +(–) Change in Working Capital

ในการประเมินมูลค่าหุ้นตามวิธี Discounted Cash Flow เราต้องหาปริมาณกระแสเงินสดอิสระในแต่ละปีให้ได้เสียก่อน จากนั้นจึงคิดลดกลับมาที่เวลาปัจจุบัน เพื่อใช้หามูลค่าหุ้นต่อไป การจะรู้กระแสเงินสดอิสระในแต่ละปีได้นั้น เราต้องตั้งสมมุติฐานว่า CAPEX ในแต่ละปีมีปริมาณเท่าไร, กำไรจากการดำเนินงาน (EBIT) จะเติบโตมากน้อยแค่ไหน เป็นต้น ซึ่งต้องอาศัยความรู้เกี่ยวกับตัวธุรกิจนั้นๆ ในระดับที่ค่อนข้างดีเลยทีเดียว จึงจะประเมินมูลค่าได้อย่างแม่นยำนั่นเองครับ

อย่างไรก็ตามการเรียนรู้เรื่องการลงทุนนั้นไม่มีที่สิ้นสุด แต่มันเป็นการเรียนรู้ที่คุ้มค่า และสามารถที่จะ “เปลี่ยนชีวิต” เราได้ครับ อย่าเพิ่งท้อไปเสียก่อน หากต้องการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมแวะเข้าไปได้ที่นี่นะครับ www.naiwaen.com

(นายแว่นธรรมดา)

คำเตือน การวิเคราะห์หุ้น และเทคนิคการลงทุนในหุ้นเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล โปรดใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูลข่าวสาร ผู้เขียนบทความไม่รับผิดชอบต่อความเสี่ยง หรือความเสียหายในการลงทุนของผู้รับข้อมูลนะครับ

[/premium]

เปิดรับสมัครสมาชิก

เว็บบล็อก “นายแว่นธรรมดา” เปิดรับสมัครสมาชิกรายปีครับ โดยท่านที่สมัครจะได้รับของที่ระลึกจากนายแว่นธรรมดา “พวงกุญแจ นกฮูกนำโชค” สัญญาลักษณ์แห่งภูมิปัญญา และความโชคดีร่ำรวย สนใจรายละเอียดการสมัครติดตามได้ที่นี่เลยครับ คลิ๊กเพื่อดูรายละเอียดการสมัครสมาชิก

ร้านหนังสืออีบุ๊กส์ นายแว่นธรรมดา”

มีหนังสือเกี่ยวกับการเงิน การลงทุน การทำธุรกิจส่วนตัว ให้เลือกซื้อแล้วนะครับ สำหรับสมาชิก 9 ปี ดาวน์โหลดหนังสือฟรี 1 เล่มครับ…

เข้าไปดูวิธีการสั่งซื้อหนังสือได้ที่นี่ครับ
http://naiwaenstore.com/store/how-to-order/

E Book Shop