ลงทุนในกองทุนรวม "เจาะลึกกับการลงทุนในกองทุนรวมแบบต่างๆ"

(บทความโดย… คุณหนุ่ย)

ในลงทุนในกองทุนรวมให้รวย ตอนที่ 1 “ก้าวแรกของการออมเงินกับกองทุนรวม” ผมได้เขียนแนะนำว่ากองทุนแบบต่างๆนั้นมีกี่ประเภทอะไรบ้าง แบบคร่าวๆ ไม่ได้เจาะลึกรายละเอียด ข้อดีข้อเสีย ของกองทุนแบบต่างๆ วันนี้ผมเลยจะมาชำแหละให้ดูกองทุนแบบรายตัวเลย อิอิ ไม่รู้ใช้คำโหดไปป่าว มาดูที่กองทุนแบบแรกกันเลยครับ…

fund 02

กองทุนตราสารหนี้ อธิบายได้ง่ายๆ ว่าเป็นกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้เป็นหลัก ทั้งตราสารหนี้ภาครัฐเช่น ตั๋วเงินคลังพันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ โดยจะลงทุนทั้งตราสารหนี้ระยะสั้น (อายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี) และตราสารหนี้ระยะยาว

ประเภทของตราสารหนี้  สามารถแบ่งออกเป็น ประเภทต่างๆคร่าวๆ ได้ดังนี้

ตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาล เป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยกระทรวงการคลังตามระเบียบและวิธีการที่กฎหมายกำหนด โดยเป็นการระดมเงินทุนจากนักลงทุนและประชาชนทั่วไปเพื่อใช้จ่ายในกิจการของรัฐบาลซึ่งส่วนใหญ่เป็นการอุดหนุนภาระขาดดุลงบประมาณ ซึ่งประกอบด้วย

–       ตั๋วเงินคลัง คือ ตราสารหนี้ระยะสั้นอายุไม่เกิน 1 ปี ที่รัฐบาลเป็นผู้ออกจำหน่าย เพื่อกู้ยืมเงินระยะสั้นจากประชาชน โดยตราสารหนี้ประเภทนี้จะไม่มีดอกเบี้ย แต่นักลงทุนสามารถซื้อได้ในราคาขายที่ต่ำกว่าจำนวนเงินตามหน้าตั๋ว  ซึ่งส่วนต่างจะเป็นผลตอบแทนที่จะได้ ตัวอย่างเช่น เราซื้อตั๋วเงินคลังที่มีราคาหน้าตั๋ว 100 บาท มาในราคา 95 บาท เมื่อครบกำหนดไถ่ถอน ก็จะได้รับเงินตามหน้าตั๋ว 100 บาท ผลต่าง 5 บาทนี้ก็จะเป็นผลตอบแทนที่ได้

–       พันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ชนิดนี้ผู้ลงทุนมีฐานะเป็นเจ้าหนี้รัฐบาลโดยตรง รัฐบาลจะจ่ายผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ยแก่นักลงทุนตามอัตราและระยะเวลาที่กำหนด และจะจ่ายเงินต้นคืนตามราคาที่ตราไว้เมื่อครบกำหนดไถ่ถอน ตราสารชนิดนี้ถือว่าไม่มีความเสี่ยงเรื่องการผิดนัดชำระดอกเบี้ยและเงินต้น  เนื่องจากมีรัฐบาลเป็นลูกหนี้ แต่ความเสี่ยงด้านการเปลียนแปลงของราคาเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยในตลาดยังคงมีอยู่ โดยพันธบัตรรัฐบาลมีสัดส่วนมากเป็นอันดับหนึ่งในตลาดตราสารหนี้

ตราสารหนี้ที่ออกโดยองค์กรภาครัฐ  เป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยองค์กรภาครัฐซึ่งมีชื่อเรียกตามองค์กรที่ออกตราสาร เช่น พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย พันธบัตรกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พันธบัตรการประปานครหลวง พันธบัตรการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย  พันธบัตรดังกล่าวเป็นการกู้เงินโดยตรงขององค์กรภาครัฐนั้นๆ ซึ่งจะมีหน้าที่และภาระในการชำระหนี้ทั้งดอกเบี้ยและเงินต้นตามที่กำหนดไว้ ตราสารหนี้เหล่านี้มีความเสี่ยงของการผิดนัดการจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นต่ำ

ตราสารหนี้ภาคเอกชน หรือหุ้นกู้ภาคเอกชน เป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยภาคเอกชนเพื่อระดมทุนจากนักลงทุนและปรชาชนทั่วไปเพื่อใช้ในการดำเนินกิจการของตน หรืออาจจะกล่าวได้ว่าภาคเอกชนมาขอกู้เงินจากนักลงทุนนั่นเอง จึงถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า หุ้นกู้ ตราสารหนี้เหล่านี้มักจะมีการออกแบบในรูปลักษณะต่าง ๆ กัน และจะมีความเสี่ยงของการที่ผู้ออกจะผิดนัดในการจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นอยู่ ภาคเอกชนจึงต้องให้ผลตอบแทนที่มากกว่าตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาล ซึ่งผลตอบแทนส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นมานี้ ก็เพื่อชดเชยความเสี่ยงต่างๆ ที่มีมากกว่าตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาล

ผลตอบแทนของการลงทุนในตราสารหนี้

ผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้จะไม่สูงมากกว่ากองทุนแบบอื่นๆ ซึ่งโดยปกติแล้วราคาของตราสารหนี้จะขึ้นกับอัตราดอกเบี้ยในตลาด อธิบายง่ายๆว่า เมื่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดเพิ่มขึ้น ราคาของตราสารหนี้จะลดลง และในทางกลับกันเมื่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดลดลง ราคาของตราสารหนี้จะเพิ่มขึ้น

ความเสี่ยงของการลงทุนในตราสารหนี้

ความเสี่ยงสำคัญๆ ของกองทุนรวมตราสารหนี้ เช่น

–       ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยในตลาด ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงของราคา หากเพื่อนๆที่คิดจะลงทุนที่ไม่อยากรับความเสี่ยงในเรื่องนี้มากเกินไปนัก ก็อาจพิจารณาเลือกลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้แบบกองปิด ซึ่งจะลงทุนเพียงครั้งเดียวแล้วถือจนครบอายุตราสาร หรืออาจะเลือกลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีอายุคงเหลือสั้นๆ เนื่องจากมีโอกาสที่จะได้รับผลกระทบจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยในตลาดไม่มากนัก

–       ความเสี่ยงจากความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสารหนี้ที่ไม่สามารถทำตามเงื่อนไขหรือข้อผูกผันที่มีอยู่ เช่น ไม่สามารถจ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ยให้ผู้ถือหุ้นกู้ได้ตามจำนวนเงินหรือตามเวลาที่กำหนดไว้ กองทุนรวมที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ที่รัฐบาลออกอาจจะถือได้ว่ามีความเสี่ยงด้านเครดิตน้อยมาก แต่เพื่อนๆ ก็อย่าลืมว่ากองทุนรวมพันธบัตรนั้นยังคงมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาตราสารจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยอยูเหมือนกัน

–       ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง อธิบายง่ายๆก็คือ การที่เมื่อเพื่อนๆ ลงทุนไปแล้วอาจไม่สามารถซื้อขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมได้ตามที่เพื่อนๆ ต้องการหากลงทุนในกองทุนปิด หรือกองทุนเปิดที่เปิดให้ซื้อขายได้บางเวลา ดังนั้น เพื่อนๆ ที่ต้องการสภาพคล่องสูงก็ควรเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้ที่เปิดให้ซื้อขายได้ทุกๆ วัน เพราะกองทุนรวมประเภทนี้จะมีการเตรียมสภาพคล่องไว้รองรับการไถ่ถอนหน่วยลงทุนของผู้ถือหน่วยลงทุนไว้อยู่แล้ว

วิธีการลงทุนในตราสารหนี้ทำได้อย่างไรหรือซื้อขายกันอย่างไร

การซื้อขายตราสารหนี้สามารถทำได้หลายระดับ โดยเพื่อนๆ อาจตกลงซื้อขายระหว่างกันเอง หรืออาจซื้อขายกับผู้ค้าตราสารหนี้(Dealer) ซึ่งเราสามารถติดต่อที่ฝ่ายค้าตราสารหนี้ของสถาบันการเงินต่างๆได้ การค้าจะทำโดยการเจรจาต่อรองระหว่าง Dealer กับลูกค้าเพื่อตกลงราคาและปริมาณตราสารหนี้ที่ตนต้องการซื้อขาย เมื่อตกลงกันแล้วการดำเนินการด้านการชำระเงินและส่งมอบตราสารก็จะเกิดขึ้นโดยส่วนงานที่เป็น Back office โดยในปัจจุบันช่องทางที่ใช้ในการติดต่อระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายคือ โทรศัพท์ Dealer นอกจากการโทรศัพท์คุยกับลูกค้าแล้วยังส่งคำเสนอซื้อ (bid) และเสนอขาย (offer) ตราสารหนี้เป็นประจำตามสื่อต่าง ๆ เช่น หนังสือพิมพ์ สื่อออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อที่ หากมีผู้สนใจที่จะซื้อหรือขาย ก็สามารถโทรศัพท์ติดต่อกับ dealer รายนั้นได้

ความคิดเห็นของนายแว่นธรรมดา

“การลงทุนในกองทุนรวมถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจในสภาวะที่ตลาดหุ้นค่อนข้างจะผันผวน… นอกจากเราจะลงทุนในกองทุนรวมแล้ว กองทุนรวมตราสารหนี้ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจเช่นกัน ดังจะมีตำราฝรั่งที่เขียนถึงการโยกเงินลงทุน กระจายความเสี่ยง ที่เรียกกันว่า Asset Allocation หรือการย้ายเงินของเราไปวางในสินทรัพย์ทางการเงินที่ให้ผลตอบแทนคุ้มค่า และไม่เสี่ยงนั่นเองครับ” … ติดตามให้กำลังใจบทความของคุณหนุ่ย ได้ในตอนต่อๆ ไปนะครับ …

product naiwaen 03

แนะนำเว็บไซค์สำหรับคนอยากมีบ้านหลังแรก และต้องการมองหาการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์

http://www.topofliving.com/ (โดยนายแว่นธรรมดา เช่นเคยครับผม)

logo-topofliving2

1 reply

Comments are closed.