เจาะลึกกับการลงทุนในกองทุนรวม ตอน ตามล่าหาขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า

(บทความโดย คุณหนุ่ย)

สวัสดีครับเพื่อนๆ ในบทความตอนที่แล้วผมได้พาไปเจาะลึกกองทุนแบบแรกไป ซึ่งก็คือ กองทุนตราสารหนี้ เพื่อนๆ คงอยากจะให้ผมพาไปเจาะลึกกองทุนแบบอื่นๆ กันอยู่ใช่ไหมครับ วันนี้ผมจะพาไปผจญภัยเพื่อตามหาลายแทงของกองทุนรวมตราสารทุน ซึ่งเปรียบเสมือนขุมทรัพย์ที่ให้ความมั่งมีแก่เพื่อนๆ กันครับ ตามผมมาล้วงลึกกองทุนรวมตราสารทุน กันเลยครับ

Naiwaentammada 1

กองทุนรวมตราสารทุน คือ ตราสารที่แสดงความเป็นเจ้าของกิจการในฐานะผู้ถือหุ้น รวมทั้งมีส่วนได้เสียหรือมีสิทธิในทรัพย์สินและรายได้ของกิจการ โดยเป็นตราสารที่กิจการนั้นๆออกให้แก่ผู้ถือ (Holder) เพื่อระดมเงินทุนไปใช้ในกิจการการลงทุนในตราสารทุนนี้ การลงทุนในตราสารทุนจะมีความเสี่ยงมากกว่าการลงทุนในตราสารหนี้ เพราะสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินของกิจการ ในกรณีที่เกิดการล้มละลายจะได้สิทธิอยู่หลังเจ้าหนี้  ตัวอย่างตราสารทุน ได้แก่ หุ้น ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น

      ประเภทของตราสารทุน สามารถแบ่งออกเป็น ประเภทต่างๆ ได้ดังนี้

–       หุ้นสามัญ (Common Stock) เป็นตราสารประเภทหุ้นทุน ซึ่งออกโดยบริษัทมหาชนจำกัดที่ต้องการระดมเงินทุนจากประชาชน โดยผู้ถือหุ้นสามัญจะมีสิทธิร่วมเป็นเจ้าของบริษัท มีสิทธิในการออกเสียงลงมติในที่ประชุมผู้ถือหุ้นตามสัดส่วนของหุ้นที่ถือครองอยู่ และเมื่อกิจการมีกำไรจากการดำเนินงาน ผู้ถือหุ้นสามัญจะได้รับเงินปันผลในอัตราที่จัดสรรโดยที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น โดยจะคำนวณตามสัดส่วนของจำนวนหุ้นที่ผู้ถือหุ้นนั้นถือครอง

–       หุ้นบุริมสิทธิ (Preferred Stock) คือ ตราสารประเภทหุ้นทุนที่ผู้ถือมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของกิจการเช่นเดียวกับหุ้นสามัญ มีข้อแตกต่างจากหุ้นสามัญคือ หากกิจการนั้นมีอันต้องเลิกดำเนินการและมีการชำระบัญชีโดยการขายทรัพย์สิน ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ์จะได้รับเงินคืนทุนก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ และหุ้นบุริมสิทธิ์จะมีตราสารสิทธิที่แสดงความเป็นเจ้าของกิจการที่มีการจดบุริมอัตราคงที่ ตามที่จดบุริมสิทธิ์ไว้ซึ่งอาจจะมากหรือน้อยกว่าผู้ถือหุ้นสามัญก็ได้

–       ใบสำคัญแสดงสิทธิในหุ้น (Stock Warrants) เป็นตราสารที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือในการซื้อหลักทรัพย์ที่ใบสำคัญแสดงสิทธินั้นอ้างอิงอยู่ ตามราคาใช้สิทธิจำนวนที่ให้ใช้สิทธิ (นิยมใช้เป็นอัตราส่วน) และภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ล่วงหน้าโดยผู้ลงทุนจะมีสิทธิในความเป็นเจ้าของกิจการต่อเมื่อได้ใช้สิทธิในการซื้อหุ้นของกิจการนั้นแล้วเท่านั้น

–       หน่วยลงทุนในกองทุนตราสารแห่งทุน (Unit Trust) คือ หลักทรัพย์ที่ออกขายโดยบริษัทจัดการลงทุนเพื่อระดมเงินเข้ากองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้น แล้วจัดสรรเงินในกองทุนนั้นลงทุนในตลาดการเงินตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในหนังสือชี้ชวน ผู้ลงทุนจะมีสิทธิความเป็นเจ้าของกิจการที่กองทุนรวมนั้นลงทุนไว้ ตามสิทธิที่เฉลี่ยระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนทั้งหมดในกองทุนรวมนั้นนั่นเอง

–       ตราสารแสดงสิทธิ์ในอนุพันธ์ที่มีหลักทรัพย์อ้างอิงเป็นหุ้น (stock options & futures) คือ สัญญาที่ผู้ลงทุนสองฝ่ายตกลงกันเพื่อซื้อหรือขายหุ้นในราคา จำนวน และภายในระยะเวลาที่กำหนด

–       ใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย หรือ เอ็นวีดีอาร์ (Non – Voting Depositary Receipt : NVDR) คือ ตราสารที่ออกโดยบริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด ซึ่งมีสถานะเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนโดยอัตโนมัติ และมีหลักทรัพย์อ้างอิง  เป็นหุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ ใบสำคัญแสดงสิทธิ หรือใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

     ผลตอบแทนของการลงทุนในตราสารทุน จะมีผลตอบแทนจากสองทาง คือ

–       เงินปันผล (Dividend) คือ เงินส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานรายปีของกิจการ ซึ่งพิจารณาจัดสรรโดยที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น ที่จัดให้มีขึ้นภายหลังจากการรับรองงบดุลและงบการเงินของกิจการแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่จะประมาณเดือนเมษายนของทุกปี โดยกฎหมายกำหนดให้กิจการต้องจัดให้มีประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นปีละหนึ่งครั้ง ภายในสี่เดือนนับจากวันสิ้นสุดปีบัญชี และไม่เกินรอบ 12 เดือนนับจากวันที่ประชุมครั้งหลังสุด

–       กำไรส่วนเกินทุน (Capital Gain) คือ เงินได้ที่เกิดขึ้นจากผลต่างของราคาขายหลักทรัพย์ ที่สูงกว่าราคาทุน

วิธีการลงทุนในตราสารทุนซื้อขายกันที่ไหน อย่างไร

นักลงทุนสามารถซื้อขายตราสารทุนได้ในตลาดหลักทรัพย์ 2 แห่งคือ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (The Stock Exchange of Thailand – SET) และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (Market for Alternative Investment – mai) ทั้งนี้ จะขึ้นอยู่กับบริษัทจดทะเบียนว่าจะเลือกเข้ามาระดมทุนและจดทะเบียนซื้อขายในตลาดใด

ความเสี่ยงของการลงทุนในตราสารทุน

ความเสี่ยงสำคัญๆ ของกองทุนรวมตราสารทุน ตัวอย่างเช่น

–       ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของระดับราคา (Market risk)  กล่าวคือ ผู้ลงทุนอาจขายหุ้นได้ในราคาที่ต่ำกว่าที่คาดไว้ หรือบริษัทอาจจ่ายเงินปันผลในระดับต่ำหรือไม่จ่ายเงินปันผลเลย ซึ่งการที่ผู้ลงทุนได้รับอัตราผลตอบแทนต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนที่ได้คาดหวังไว้ อาจมีสาเหตุจากการที่กระแสเงินสดรับสุทธิของบริษัทผู้ออกหุ้นมีความไม่แน่นอน ทำให้เกิดความไม่แน่นอนต่อผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นของบริษัทนั้นด้วย

–       ความเสี่ยงจากการขาดสภาพคล่องของการซื้อขาย (Liquidity risk)   เกิดขึ้นเนื่องจากผู้ลงทุนไม่อาจเปลี่ยนหุ้นที่ลงทุนเป็นเงินสดได้ในเวลาที่รวดเร็วโดยไม่ขาดทุน

–       ความเสี่ยงทางการเงิน (Financial Risk) เป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการที่กิจการได้สร้างภาระผูกพันทางการเงินไว้ เช่น การก่อหนี้ ถ้ากิจการใดมีการก่อหนี้ไว้เป็นจำนวนมาก กิจการนั้นก็จะมีภาระการจ่ายดอกเบี้ย ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายคงที่จำนวนมาก และหากกิจการไม่สามารถทำกำไรได้ตามเป้าที่วางไว้ กำไรของกิจการก็จะไม่เพียงพอที่จะจ่ายดอกเบี้ยได้ เมื่อกิจการไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยตามภาระผูกพันได้ ก็ทำให้บริษัทมีความเสี่ยงที่อาจจะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้

–       ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงิน (Interest Rates Risk) คือ การที่ระดับอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินเปลี่ยนแปลงผันผวนขึ้นลง ซึ่งจะไปจะกระทบต่อระดับอัตราผลตอบแทนของผู้ลงทุน อธิบายได้ง่ายๆว่า เมื่อมีการเพิ่มขึ้นของระดับอัตราดอกเบี้ยโดยทั่วไป จะส่งผลให้ทำให้ราคาหลักทรัพย์ต่างๆ ลดลงได้ครับ

“ความคิดเห็นของนายแว่นธรรมดา”

การลงทุนในกองทุนรวมที่ “คุณหนุ่ย” ได้นำเสนอนั้น ได้เปิดมุมมองอีกแง่ของการลงทุนที่น่าสนใจ โดยเฉพาะตราสารหนี้ที่ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำกว่าการลงทุนในกองทุนรวมที่นำเงินไปลงทุนในตราสารทุน หรือหุ้นสามัญ ซึ่งในบทความนี้จะกล่าวถึงกองทุนตราสารทุนก่อนนะครับ อย่างไรก็ตามลองติดตามผลงานของคุณหนุ่ย นักเขียนบทความหนุ่มไฟแรงประจำเว็บนายแว่นธรรมดาต่อไป ผมเชื่อเหลือเกินว่าจะเป็นประโยชน์กับคุณผู้อ่าน และให้แง่มุมใหม่ๆ สำหรับการลงทุนอย่างแน่นอนครับ

“จะคิด จะทำอะไร ก็อย่าทำด้วยกิเลส ไม่เป็นทาสของกิเลส ที่เป็นเหตุให้เราทำ แต่ควรทำด้วยใจบริสุทธิ์ ทำเพื่อลดตัวกู ของกู ทำเพื่อดับทุกข์”

(นายแว่นธรรมดา)

product naiwaen 03

แนะนำเว็บไซค์สำหรับคนอยากมีบ้านหลังแรก และต้องการมองหาการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์

http://www.topofliving.com/ (โดยนายแว่นธรรมดา เช่นเคยครับผม)

logo-topofliving2

3 replies
  1. นายแว่นธรรมดา
    นายแว่นธรรมดา says:

    CPALL เผยจะกำหนดดอกเบี้ยหุ้นกู้วงเงิน 4 หมื่นลบ. หลังการประชุม กนง. 12 มี.ค. นี้ คาดใกล้เคียงชุดเดิม

    สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย- -4 มี.ค. 57 11:14 น.

    นายเกรียงไชย บุญโพธิ์อภิชาติ รองกรรมการผู้จัดการด้านการเงิน และนักลงทุนสัมพันธ์ บมจ. ซีพี ออลล์ (CPALL) เปิดเผยว่า บริษัทฯจะกำหนดดอกเบี้ยหุ้นกู้วงเงิน 40,000 ล้านบาท หลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 12 มี.ค. นี้ ซึ่งคาดว่า กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยหุ้นกู้ชุดนี้ อาจต่ำกว่าชุดก่อนหน้าเล็กน้อย แต่เบื้องต้นคาดว่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน ทั้งนี้หุ้นกู้ชุดก่อนหน้าของ CPALL วงเงิน 50,000 ล้านบาท ระยะ 3 ปี มีอัตราดอกเบี้ย 4.10% ,ระยะ 5 ปี ดอกเบี้ย 4.70%, ระยะ 7 ปี ดอกเบี้ย 5.10% และ 10 ปี ดอกเบี้ย 5.35% "เชื่อว่าหุ้นกู้ชุดนี้ น่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน ไม่ต่างจากชุดก่อน CPALL โดยบริษัทฯ ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือจากบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ระดับ "A+(tha)" สะท้อนถึงความสามารถในการดำเนินธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง รวมถึงมีกระแสเงินสดที่มั่นคง เนื่องจากสินค้าที่ขายส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน" นายเกรียงไชยกล่าว

Comments are closed.